ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี
มอบโอวาทแก่บัณฑิตสำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2562
พิธีประสาทปริญญาบัตร ครั้งที่ 28
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08.30 - 11.00 น.
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

     กราบเรียน ท่าน ดร.วิเชียร เตชะไพบูลย์ ท่านประธานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งมูลนิธินี้เป็นเจ้าของและก็เป็นผู้ริเริ่มในการสร้างมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้ ท่านกรรมการสภามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ที่ได้ให้การสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด รวมทั้งได้มอบหมายนโยบายให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติได้นำไปปฏิบัติจนกระทั่งพบกับความเจริญรุ่งเรือง ท่านอธิการบดี ผู้บริหาร คณาจารย์ และก็นิสิตนักศึกษา บัณฑิตทั้งหลาย โดยเฉพาะดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต และบัณฑิตทั่วไป ขอแสดงความชื่นชมยินดีในกิจการของมหาวิทยาลัยดังที่ท่านอธิการบดีได้กราบเรียนที่ประชุมไปเมื่อสักครู่ ผลงาน  ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ปฏิบัตินั้นเป็นไปตามนโยบายของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และก็เป็นไปตามนโยบายของสภามหาวิทยาลัย เป็นอย่างดียิ่ง

     ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ท่านบัณฑิตทุกท่านคงจะได้เป็นประจักษ์พยานว่าโลกใบนี้มันมีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา คือ การเปลี่ยนแปลง แท้จริงแล้วประวัติศาสตร์ได้สอนเราว่าตั้งแต่โบราณมาโลกและก็สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์สามารถคงความเป็นมนุษย์และก็ยั่งยืนมาได้ก็ด้วยการปรับตัวของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย ครั้งนี้ก็เหมือนกัน 2 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นการปรับตัวทั้งในระดับโลก ระดับรัฐบาล ระดับองค์กร แม้แต่ในครอบครัวของแต่ละครอบครัว การปรับตัวเป็นเรื่องที่ต้องทำแต่ต้องอาศัยปัจจัย 2 อย่างด้วยกัน คือ ปัญญาความรู้และคุณธรม ท่านพุทธทาสได้ให้นิยามคำว่าบัณฑิตไว้ว่า บัณฑิต คือ ผู้ที่มีปัญญาความรู้และประพฤติดีประพฤติชอบ ถ้ามีแต่ปัญญาความรู้เค้ายังไม่เรียกบัณฑิต เค้าอาจจะเรียกว่านักปราชญ์ อาจจะเรียกว่าผู้รู้ เรียกว่านักวิชาการ หรืออะไรก็ว่าไป แต่ถ้าหากว่ามีทั้งสององค์ประกอบอันนี้จะครบความเป็นบัณฑิต

     วันนี้พวกเรามาร่วมในพิธีที่สำคัญมากคือพิธีประสาทปริญญาที่บัณฑิตทั้งหลายได้สำเร็จตามเงื่อนไขหลักสูตรอย่างน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่รออยู่ข้างหน้าก็คือการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่รออยู่ข้างหน้าก็คือการต้องปรับตัว ปรับการทำงาน ปรับรูปแบบของธุรกิจที่พวกท่านทั้งหลายกระทำอยู่ เพื่อให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ตลอดเวลา นักปราชญ์ทั้งตะวันออก ตะวันตกได้มองโลกใบนี้ว่าอะไรมันเกิดขึ้นใช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แล้วก็พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก

     · การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโลกใบนี้ก็คือปัญหา Climate Crisis หรือวิกฤตของสภาพสภาวะแวดล้อมบรรยากาศต่าง ๆ เป็นเรื่องที่มนุษย์จะต้องใช้ปัญญาคือทำวิจัยและศึกษาให้เข้าใจมากกว่านี้ แล้วก็หาทางแก้ไขมากกว่านี้

     · เรื่องที่ 2 ที่เปลี่ยนแปลงมากก็คือเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีดิจิทัล ดังที่ท่านทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลายก็ประจักษ์ดีอยู่แล้ว ในโลกปัจจุบันและอนาคตไม่มีอาชีพไหนที่ไม่อาศัยดิจิทัลเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น AI, Robotics, AR, VR, Data Science มากมายก่ายกอง ความรู้ที่บัณฑิตได้รับไปตามหลักสูตรเป็นความรู้พื้นฐานท่านยังต้องไปทำงานอีก 30-40 ปี  ท่านยังต้องเจอการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยีและก็เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ อีกเยอะมาก เพราะฉะนั้นหน้าที่ของบัณฑิตอันนึงก็คือจะยังคงความมีปัญญาและความรู้ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ขอยืนยันว่าต้องเรียนรู้ตลอดเวลา

     · เรื่องที่ 3 ที่นักปราชญ์ทั่วโลกเฝ้ามองอยู่ก็คือโครงสร้างของมนุษยโลก เชื่อกันว่าหลายประเทศที่มีอัตราเกิดน้อยกว่าอัตราตาย ประชากรจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากขึ้นมาก แล้วก็จำนวนประชากรรวมจะค่อย ๆ ลดลง ประเทศไทยเราก็เจอปัญหานี้หลายหมู่บ้านหลายตำบลมีคนสูงอายุมากกว่า 1 ใน 5 บางแห่ง 1 ใน 4 ด้วยซ้ำไป

     · การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเหล่านี้อีกเรื่องนึงก็คือเรื่องรายได้ รายได้ของประชากรบนโลกมันเหลื่อมล้ำจริง ๆ เหลื่อมล้ำมาก ๆ ระบบทุนนิยมนี้ดีหลายเรื่องแต่ก็ไม่ดีอีกหลายเรื่อง

     มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีอุดมการณ์ว่าเรียนรู้เพื่อจะรับใช้สังคม เรียนรู้เพื่อจะรับใช้ชุมชน ผมขอให้บัณฑิตทั้งหลายจงนำเอาปณิธานนี้ไปใช้ไปช่วยให้ชุมชนและสังคมมันดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ระดับล่างของชนชั้นต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ บ้านเรามีตัวเลขที่ยังไม่นิ่งว่ามีคนจนอยู่เท่าไหร่ บางคนก็บอกว่า 5 ล้าน บางคนบอกว่า 8 ล้าน บางคนบอกว่าอย่างโน้นอย่างนี้ แต่มีอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

    ในเมือง ในชุมชนแออัด นอกเมือง ในอำเภอที่อยู่ไกล หรือชายแดน ถ้าบัณฑิตสามารถจะช่วยคนเหล่านั้นได้ไม่ว่ามากหรือน้อย  ก็ตาม อันนี้คือการรับใช้สังคมซึ่งเป็นอุดมการณ์ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เป็นอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

     เรื่องที่ 2 คือ เรื่องประพฤติดีประพฤติชอบของบัณฑิต แน่นอนท่านทั้งหลายได้รับการอบรมดูแลสั่งสอนมาในครอบครัว ในโรงเรียน และที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ซึ่งได้ย้ำเน้นในเรื่องของคุณธรรม 3 ข้อ ดังที่ท่านอธิการบดีได้กราบเรียนแล้ว ผมคิดว่า   ในการปรับตัวให้เข้ากับอนาคตและก็อยู่ด้วยความสุขสบาย คุณธรรม 3 ข้อสำคัญมาก ที่ท่านทั้งหลายคงจะคุ้นชินแล้ว ผมอยากจะยกตัวอย่างเรื่องการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสั้น ๆ นะครับ สมัยนี้เราบอกว่ามันต้องมีการออกแบบใหม่ในระบบย่อยเพื่อขนานกับระบบใหญ่ที่เราเรียกว่า Sand Box หรือ Sand Boxing นั่นเอง เมื่อประมาณ 150 ปีก่อน ตอนที่พระบรม  ฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 อยู่ทางด้านโน้นขอให้พวกเรามองดูนะครับ ตอนที่ขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ คนไทยประมาณ 50 เปอร์เซ็น เป็นทาสและเป็นไพร่ และท่านก็ทำ Sand Boxing Program เพื่อจะเลิกทาสและเลิกไพร่ซึ่งไม่ง่ายเพราะสมัยนั้นยังไม่มีโรงงาน  พลังการผลิตก็คือทาสและไพร่ของเจ้าทาสเจ้าไพร่แต่ท่านก็ทำสำเร็จ สำเร็จด้วยนิติบัญญัติบ้าง รัฐศาสตร์บ้าง โดยสันติวิธี ไม่เหมือนบางประเทศที่เลิกทาสแล้วเกิดสงครามกลางเมือง ประธานาธิบดีโดนลอบฆ่า เป็นต้น แต่ของเราไม่มี ท่านทำโดย  นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันมองว่าเป็นเรื่องของ Sand Boxing ทำระบบย่อยขนานกับระบบใหญ่แล้วค่อย ๆ ให้ระบบใหญ่ มันหายไป อีกเรื่องนึงก็คือเรื่องจัดการศึกษา เมื่อเลิกทาสเลิกไพร่แล้วคนสยามสมัยโน้นอ่านออกเขียนได้น้อยมาก ไม่มีโรงเรียน เด็กผู้ชายไปเรียนกับพระที่วัด เด็กผู้หญิงไม่ให้เรียนให้อยู่บ้านหัดทำกับข้าวเป็นแม่บ้าน เตรียมตัวเป็นแม่บ้าน รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าไม่ได้ต้องให้ประชาชนของท่านเรียนหนังสือ แล้วก็สั่งเลยว่าต้องเป็นแบบเรียนเร็วเพราะเรียนช้าไม่ได้เพราะไม่มีใครรู้ และท่านก็ทำ Sand Boxing ท่านไปขอที่วัดเป็นที่สอนหนังสือก่อน ขอที่วัดนิมนต์พระบางรูปมาช่วยสอนในบ้างวิชา วิชาไหนพระไม่รู้ก็ไปเชิญฆราวาสมาสอน เราก็ได้โรงเรียนขึ้นมาทั่วประเทศ มีฝรั่งที่เป็นนักวิจัยทางการศึกษาไปนับดูปรากฏว่าในช่วงรัชกาลของพระองค์ท่าน กรุงเทพฯ มีโรงเรียนเพิ่ม 300-400 โรงเรียน ในต่างจังหวัดมี 3,000 กว่าโรงเรียน เดิมมี 10 โรงเรียนของมิชชันนารี   นี่คือวิธีทรงงานแบบปรับตัวค่อยเป็นค่อยไปตามธรรมชาติของระบบ นี่กระมังที่จะเป็นบทเรียนให้กับบัณฑิต เมื่อกี้ผมพูดว่าต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนแปลงมีหลายรูปแบบ อันที่ 2 เราต้องปรับตัว ผมอยากจะให้บทเรียน ข้อ 3 ในการปรับตัวนั้นต้องใช้สันติวิธี ต้องใช้วิธีที่ทุกคนเข้าใจและก็ร่วมมือ การปรับตัวนั้นจะประสบความสำเร็จ

     มีคำอีกคำนึงซึ่งยุคนี้ชอบใช้กัน คือ นวัตกรรม หรือฝรั่งเรียกว่า Innovation นวัตกรรมก็คือเปลี่ยนเป็นใหม่นั่นเอง Nova ก็ New ใหม่ คนที่คิดใหม่ทำใหม่ส่วนใหญ่ในวงการธุรกิจเค้าพูดถึง 3 ส่วนที่ต้องทำใหม่ คือ Product Services Innovation นวัตกรรมทางด้านสินค้าและบริการ เรื่องที่ 2 คือ นวัตกรรมในกระบวนการผลิต Work Process Innovation และอันที่ 3 ก็คือ นวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ คือ Business Model Innovation ผมอยากฝากบัณฑิตว่านวัตกรรมมีตั้งแต่แบบง่าย ๆ มีค่อนข้างยาก และก็ลึกล้ำยากเหลือเกิน ลึกล้ำยากมาก อย่าท้อ งานที่ท่านทำอยู่รับผิดชอบอยู่ทั้งงานในเรื่องของ Product Service ในเรื่องของ Work Process หรือ Model ของการทำงาน ถ้าท่านสามารถจะวิเคราะห์แล้วก็สามารถจะออกแบบใหม่ทำให้การทำงานนั้น  มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลงทุนน้อยลง และที่สำคัญได้กำไรมากขึ้นอันนี้ก็เป็น Innovation ได้ บริษัท 3M เค้าให้นิยามคำว่า Innovation กับ Research ไม่เหมือนกัน วิจัยแปลว่าใส่เงินเข้าไปแล้วได้ความรู้ใหม่ออกมา ส่วนนวัตกรรมหมายความว่า  เอาความรู้ใหม่ใส่เข้าไปกลายมาเป็น Product หรือ Better Work Process แล้วได้เงินขึ้นมา ตามทันนะ วิจัย คือ เอาเงินใส่  เข้าไปแล้วได้ความรู้ขึ้นมา แต่ Innovation ก็คือ เอาความรู้ใส่เข้าไปแล้วได้เงินขึ้นมาได้ Profit เพิ่มขึ้นมา เพราะฉะนั้นก็อยากจะฝากบัณฑิตนะครับว่าไม่ใช่เรื่องลึกลับเป็นเรื่องที่ทำได้ และจริง ๆ ในโบราณมนุษย์ตั้งแต่โบราณก็มี Innovation มาตลอด  มิเช่นนั้นวัฒนธรรมและอารยธรรมของมนุษย์ก็ไม่เจริญมาถึงวันนี้หรอก ประธานาธิบดีจีนได้พูดไว้เพื่อยุให้คนจีน Innovate  มาก ๆ ท่านบอกว่ามีภาษิตจีนโบราณว่าอย่างนี้ แปลเป็นไทยนะภาษาจีนผมไม่รู้เรื่อง แปลเป็นไทยว่า วันนี้ใหม่ พรุ่งนี้ใหม่  ใหม่เสมอ 3 คำ วันนี้ใหม่ พรุ่งนี้ใหม่ ใหม่เสมอ ก็ฝากบัณฑิตนะครับว่าในงานที่เราทำถ้าเราจะใช้ปัญญาความรู้ ใช้คุณธรรม  แล้วก็รับมือกับการเปลี่ยนแปลงไม่ว่ามากหรือน้อย แล้วก็ปรับตัว แล้วก็คิดใหม่ทำใหม่ให้มันดีกว่าเก่า ผมเชื่อว่าบัณฑิตจะพบกับความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตของท่านทุกคน

     เมื่อกี้มีคำปฏิญญาข้อนึงบอกว่าจะให้ความเคารพรักครูบาอาจารย์ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้กับพวกเรา ครู ครุ นี่แปลว่า หนัก ชีวิตครูเป็นชีวิตที่หนัก ที่จริงชีวิตสบายก็ได้เดี๋ยวนี้สอนออนไลน์ก็เบาหน่อย แต่ว่าจริง ๆ ชีวิตครูที่ว่าหนักต้องทำมากกว่าสอนออนไลน์ คำว่า ครุ หรือ ครู ท่านพุทธทาสบอกว่าต้องทำหน้าที่เปิดประตู 3 ประตูด้วยกันให้แก่ลูกศิษย์

     · ประตูแรก คือ เปิดประตูจากห้องที่ไม่รู้ไปสู่ห้องที่รู้ ซึ่งตามหลักสูตรมีแล้ว ตอนจบ ม.6 เข้ามาที่เทคนิคการแพทย์  ไม่รู้เรื่องเลยแต่ 4 ปีให้หลังรู้หมดเลยเรื่องทำงานทางด้านเทคนิคการแพทย์ ครูนั่นแหละเป็นผู้ให้ เปิดประตูให้ 4 ปี อยู่ที่นี่แล้วก็เป็นบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ สาขาอื่นก็เหมือนกัน

     · ประตูที่ 2 คือ ประตูของการพัฒนาทักษะในเรื่องของวิชาชีพ เปิดจากประตูที่ไม่รู้เรื่องเลยแล้วก็ไปสู่ห้องที่ทำเป็นแล้ว เป็นนักเทคนิคการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ มีทักษะ

     · ประตูสุดท้ายเป็นประตูของคุณธรรม ศีลธรรม ครูมีหน้าที่อีกอันนึงก็คือ เปิดประตูแห่งความไม่มีศีลธรรมหรือมีน้อยไปสู่ความเป็นผู้มีศีลธรรมมาก

     และถ้าได้เปิดประตูทั้ง 3 ประตู บัณฑิตก็จะได้ประโยชน์ 3 ประการจากครู เมื่อกี้นี้ท่านให้คำปฏิญญาตนว่าจะรัก จะเคารพ    จะกตัญญูต่อครู การกตัญญูนี่ก็เป็นธรรมะเป็นคุณธรรมพื้นฐานของทุกอารยธรรม ความกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นฐานของทุก อารยธรรม ถ้าใครอกตัญญูต่อพ่อแม่แล้วบอกเป็นคนดีอย่าไปเชื่อ คนดีต้องกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ บ้านนี้เมืองนี้ก็มีพระคุณต่อพวกเรา ขอให้บัณฑิตทั้งหลายประสบความสำเร็จ ประสบความรุ่งเรือง และพบกับสิ่งดี ๆ งาม ๆ ตลอดไป ขอบคุณมากครับ              

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี
มอบโอวาทแก่บัณฑิตสำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 
พิธีประสาทปริญญาบัตร ครั้งที่ 29
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.00-15.30 น. 
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

    กราบเรียน ท่าน ดร.วิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และกรรมการอีกหลายท่านที่มาร่วมในพิธีนี้ ท่านกรรมการสภามหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ท่านอธิการบดี และคณะผู้บริหาร คณาจารย์ที่เคารพของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ท่านดุษฎีบัณฑิต ท่านมหาบัณฑิต และบัณฑิตสาขาต่าง ๆ ที่ได้ร่วมพิธีประสาทปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2563 

    ผมขอแสดงความชื่นชมยินดีกับท่านอธิการบดีที่ได้บริหารงานของมหาวิทยาลัยได้อย่างดีเยี่ยม เป็นไปตามภารกิจของมหาวิทยาลัยที่พึงกระทำอย่างยิ่ง และขอแสดงความชื่นชมยินดีกับบัณฑิตทุกท่านที่สำเร็จการศึกษาอย่างดีเยี่ยม ตามมาตรฐานของปริญญานั้น ๆ หวังว่าคำปฏิญญาที่ท่านได้กล่าวไปแล้วจะเป็นเครื่องสนับสนุนบำรุงท่านให้ปฏิบัติหน้าที่การงาน รวมทั้งหน้าที่ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งได้อย่างเต็มภาคภูมิ 

    ท่านพุทธทาสได้ให้ความหมายของบัณฑิตว่า เป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญาความรู้และมีความประพฤติดีประพฤติชอบ บัณฑิต คือ ผู้ที่มีปัญญาความรู้และประพฤติดีประพฤติชอบ ตกลงก็จะมี 2 องค์ประกอบในความเป็นบัณฑิต ในเรื่องปัญญาความรู้ที่ท่านได้จากมหาวิทยาลัยแห่งนี้จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับต่าง ๆ ตรงนี้จะเป็นพื้นฐานจะเป็นความรู้พื้นฐาน เพราะในภายภาคหน้าทุกท่านจะได้พบกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความรู้เทคโนโลยีและอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งท่านจะต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาจึงจะทันการณ์ ทันคน และทันงานด้วย อย่านึกว่าเราจบวันนี้แล้วเราจบกันไม่ต้องเรียนรู้อีกไม่ใช่แต่ต้องเรียนรู้ อีกเยอะเลยหลังจากที่จบวันนี้แล้ว แต่วันนี้คือความรู้พื้นฐานที่จะไปเริ่มต้นและต่อยอด 

    การเปลี่ยนแปลงสำหรับโลกใบนี้เป็นมาตั้งแต่โบราณกาลแต่ที่เราเห็นชัดมากก็คือใน 2 ปีเศษ จากการระบาดของโควิด-19 เพราะว่ากระทบไปหมดทุกภาคส่วนแล้วก็กระทบไปหมดทุกประเทศ เสียหายเยอะ และบางคนก็ถือเอาวิกฤตนี้เป็นโอกาส  แล้วก็สร้างงานสร้างรายได้ขึ้นมาก็มีเหมือนกัน แสดงว่ามนุษย์สามารถจะปรับตัวรับมือกับวิกฤตได้หรือมนุษย์จะปล่อยเนื้อ ปล่อยตัวแล้วให้เป็นเหยื่อวิกฤตต่อไปก็ได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับบัณฑิต ผมเชื่อว่าบัณฑิตทุกท่านจะเอาตัวรอดในวิกฤตภายหน้า  มีคนทำนายไว้ว่า ท่ามกลางวิกฤตของสภาพอากาศ Climate Crisis และอื่น ๆ อีกมากมาย ในศตวรรษนี้โควิด-19 ไม่ใช่ การระบาดครั้งสุดท้าย จะต้องมีอีก เพราะฉะนั้นสิ่งที่บัณฑิตจะต้องทำก็คือ สร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง สร้างภูมิคุ้มกัน ทุกด้านเลยให้กับชีวิตของตัวเอง ให้กับครอบครัวของตัวเอง ให้กับองค์กรให้กับชุมชนของตัวเอง ซึ่งการสร้างภูมิกัน 4 ด้าน ได้พูดไว้แจ่มแจ้งแล้วในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บัณฑิตท่านใดสนใจลองไปอ่านดูจะมีแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งหรือภูมิคุ้มกันเพื่อจะรับมือกับวิกฤตในอนาคตได้ทุกด้าน 

    สิ่งหนึ่งที่อยากฝาก คือ คุณธรรมพื้นฐานของคนไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีนักวิชาการ 7-8 ประเทศ ที่มีคนไทย คนลาว คนจ้วง คนไต อยู่อาศัยได้ร่วมกันทำวิจัย เรื่อง วัฒนธรรมและสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านประวัติศาสตร์ ด้านวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทย มีข้อสรุปที่น่าสนใจมากแล้วอยากจะฝากบัณฑิต มิติชีวิตของคนไทยจะมี 3 มิติด้วยกัน 
มิติแรก คือ ครอบครัวและตระกูล คนไทยยึดมั่นในการสร้างครอบครัวที่มั่นคงและอบอุ่นมา 2,000 ปีแล้ว มีบันทึกตั้งแต่สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ เพราะว่าตอนนั้นกลุ่มที่จะพัฒนาเป็นคนไทยในประเทศต่าง ๆ มาจากทางทิศใต้ของแม่น้ำแยงซีเจียงหรือว่า  เจียงหนาน แล้วก็ย้ายถิ่นฐานไปทางตะวันตก ขึ้นไปที่กว่างสีก็เป็นไทยจ้วง เดี๋ยวนี้ก็มีประมาณ 17 ล้านคน มาที่ภาคเหนือของเวียดนามก็เป็น 12 จุไท มีไททรงดำ ไทขาว ไปที่ประเทศลาวก็โชคดีตั้งประเทศได้กลายเป็นประเทศลาวไป ขึ้นไป 12 ปันนา ก็เป็นไทลื้อ ไทเขิน ก็เป็นชนกลุ่มน้อยของมณฑลยูนนาน ลงมาที่ประเทศไทยมาทางอีสาน ทางเหนือ ภาคกลาง ไปทางใต้  ก็กลายเป็นไทสยามไป แล้วก็ไปที่พม่า อันนั้นตั้งหลักใหญ่พม่าเรียกรัฐฉาน และสุดท้ายก็ไปลงที่ภาคอีสานของอินเดียที่อาหม        เค้าเรียกไทอาหม และอื่น ๆ อีก ที่อยากจะไล่ให้ฟังก็เพราะว่าชนชาติที่เป็นเผ่ากลุ่มภาษาไทย ไต ลาว จ้วง เป็นกลุ่มชนชาติ ที่ใหญ่มากใน South East Asia รวมแล้วประมาณ 100 กว่าล้านคน แล้วเค้าสร้างวัฒนธรรมมาเป็นโครงสร้างที่น่าสนใจมาก 

    ครอบครัวและตระกูลจะมีคุณธรรม 2 ข้อ ผู้เยาว์ต้องให้ความเคารพ ให้ความกตัญญูรู้คุณต่อผู้อาวุโสในครอบครัวและตระกูล พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา เรามีชุดเรียกเป็นชุด ๆ ส่วนผู้ที่อาวุโสก็ให้ความรักความเมตตาแก่ผู้เยาว์ในครอบครัวและตระกูล เป็นลูกหลานอย่างนี้เป็นต้น ครอบครัวที่มั่นคงและอบอุ่นจะทำให้คนทุกวัยในครอบครัวทั้งวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และ        วัยสูงอายุ เกิดความมั่นคงในจิตใจ สามารถที่จะรับมือกับการกดดันและวิกฤตต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง แต่ถ้าครอบครัวแตกร้าว ครอบครัวล่มสลาย ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าผู้สูงอายุ จิตใจเปราะบางมาก ก็ขออนุญาตฝากบัณฑิตทุกท่าน ปัจจุบันท่านก็เป็นสมาชิกหนึ่งในครอบครัวของท่าน วันข้างหน้าท่านอาจจะสร้างครอบครัวใหม่ แต่ขอให้นึกอยู่ตลอดเวลาว่าคนไทยต้องเสียสละและต้องทุ่มเทเพื่อสร้างครอบครัวที่มั่นคงและอบอุ่นด้วยธรรมะ ด้วยคุณธรรม 2 ข้อ คือ ความรักความเมตตาต่อกัน แล้วก็ความกตัญญูรู้คุณ ต้องตอบแทนคุณ 
มิติที่สอง คือ มิติชุมชน คนไทยไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนเค้าต้องทำนาดำ เพราะเค้ากินข้าวกินปลาเป็นหลัก มากินสเต็กตอนหลังฝรั่งมาสอนแต่สมัยก่อนไม่มี เค้าต้องเลือกที่ลุ่ม มีน้ำ มีแม่น้ำ บึงใหญ่ หนองใหญ่ ทำนาดำ แล้วเค้าช่วยกัน เค้ามีความเกื้อกูลกัน เค้ามีน้ำใจต่อกันและกัน มีกลุ่มคนไทยที่เวียดนามเหนือ หมู่บ้านเค้าจะมีกรรมการหมู่บ้านเค้าเรียกผู้เฒ่าผู้แก่ กรรมการหมู่บ้านนี้ทุกสิ้นปีเค้าจะแบ่งพื้นที่ทำนาให้แต่ละครอบครัว เพราะว่าใน 1 ปี แบ่งไปแล้วเมื่อปีกลายบางครอบครัว  ก็ผู้เสียชีวิตไป บางครอบครัวก็มีเด็กเกิดใหม่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นเค้าจะนับจำนวนตอนปลายปีแล้วเค้าจะแบ่งพื้นที่ให้พอเหมาะ ได้สัดส่วนกับแต่ละครอบครัว เหตุผลมีข้อเดียวเค้าต้องการประกันว่าทุกครอบครัวและทุกคนในชุมชนมีข้าวกินตลอดปี ความงดงาม ความมีน้ำใจต่อกันและกัน แม้แต่การออกแบบปกครองชุมชนเค้ายังนึกถึงทุกคน เค้าจะไม่ปล่อยให้ใครมีที่ดิน แสนล้านส่วนอีก 10 คนไม่มีที่ดินทำกิน จะไม่มีอย่างนั้น เค้าจะเอื้ออาทรกันให้ทุกคนอยู่รอดได้ ตรงนี้กระมังในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในช่วงโควิดเราจึงเห็นคนไทยกระตือรือร้นมาก ออกมาช่วยพี่น้องร่วมชาติ มีศาลาปันสุข หลายคนในห้องนี้ก็คงจะเคยร่วมกิจกรรมที่แสดงน้ำใจต่อพี่น้องร่วมชาติด้วยกัน อันนี้มีมาแล้ว 2,000 ปี แล้วอยากให้พวกเราช่วยสืบสานคุณธรรมดี ๆ ของคน ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ความมีน้ำใจ และความเอื้ออาทร 

    สุดท้ายคนไทยไปอยู่ที่ไหนถ้ามีหลาย ๆ เมือง เค้าจะรวมตัวกันแล้วเค้าก็จะกำหนดเมืองใหญ่เค้าเรียกเมืองเอกหรือเมืองหลวง แล้วก็จะมีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ปกครองอาณาจักร แล้วสิ่งที่เค้าเน้นที่สุดเลยก็คือสิ่งที่ท่านปฏิญญาข้อ 2 ที่ว่าจะสามัคคีกัน    จะเน้นเรื่องความสามัคคีกัน อาณาจักรไทยได้สู้รบปรบมือกับชนอื่นมาตลอด 2,000 ปี แล้วที่ตั้งประเทศได้มี 2 ประเทศ เท่านั้นเอง คือ ประเทศลาวกับประเทศไทยของเราปัจจุบัน และที่ได้ก็เพราะมี 2 เรื่องด้วยกัน คือ ความสามัคคี ถ้าแตกความสามัคคีเมื่อไหร่เป็นอันสิ้นสุดกัน ความสามัคคีทำให้เกิดความยั่งยืนของชนเผ่าไทย และอีกอันนึงก็คือ ความจงรักภักดีต่อเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน สมัยนั้นสมัยที่คนไทยยังไม่ได้รับศาสนาพุทธ เรายังไม่รู้เรื่องภาษาบาลีสันสกฤต คำว่า กษัตริย์ไม่มี ราชินีไม่มี แต่เค้าเรียกเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ฟ้าให้ฝนมา ฟ้าให้น้ำฝน เพราะว่าเป็นชนเกษตร ดินให้ต้นข้าว เพราะฉะนั้นเค้าเรียกเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน และความจงรักภักดีก็อยู่ในกรอบของโครงสร้างอาณาจักรของคนที่พูดไต-ไท ถ้าเราไปพม่าวันนี้ยังมีเชื้อสายของเจ้าฟ้าเชียงตุง เจ้าฟ้าเมืองโน้นเมืองนี้อยู่เค้าเรียกกันมานาน 2,000 ปี 

    โดยสรุปแล้วก็ขอแสดงความชื่นชมยินดีบัณฑิตทุกท่านทุกระดับ ดุษฎี มหาบัณฑิต และบัณฑิต ผมหวังอย่างยิ่งว่าท่านทั้งหลายจะเป็นผู้สืบสานความเป็นไทยต่อไปในอนาคต ในระดับครอบครัวก็คือ ความเป็นพี่เป็นน้องกันและความกตัญญูกตเวที ในระดับชุมชน ก็คือ ความมีน้ำใจต่อกันและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในระดับอาณาจักร ก็คือ เราต้องสร้างความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ แล้วเราต้องมีความจงรักภักดีต่อบ้านเมือง บ้านเมืองจึงจะอยู่ได้ ขอให้พระคุ้มครองบัณฑิตทุกท่านและครอบครัวด้วย หวังว่าท่านทั้งหลายจะพบกับความสำเร็จในชีวิต และสมความปรารถนาในชีวิตส่วนตัวด้วย ขอบคุณมากครับ
 

   


HCU Article
ความสัมพันธ์ไทย-จีน : ความสำคัญและการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนมีรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่แข็งแรงและยาวนานเกินกว่า 2,000 ปี จนถึงปัจจุบันเรายังเห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์นี้ที่มีผลต่อทั้งสังคมและเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์และเรียนรู้จากประสบการณ์ผ่านพลังของความร่วมมือกับจีนเป็นสิ่งที่สำคัญ

จีนกลาง ภาษาโลกยุคใหม่

ความสามารถทางด้านภาษา นับเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากในโลกยุคปัจจุบัน ไม่ได้แค่ช่วยให้สื่อสารเข้าใจตรงกัน แต่ยังช่วยสานสัมพันธ์ได้ดียิ่งขึ้น มากไปกว่านั้นยังเป็นเสมือนประตู่สู่โอกาสในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นในเชิงติดต่อทำธุรกิจ หากสามารถพูดภาษาของคู่เจรจาได้ ถือว่าได้เปรียบอย่างมาก ยุคก่อน ๆ เราอาจคุ้นเคยกับการสนับสนุนให้พูดภาษาที่สอง ภาษาสากลที่ใช้ติดต่อกันโดยทั่วไปซึ่งก็คือ ภาษาอังกฤษ แต่ปัจจุบันแค่สองภาษาอาจไม่เพียงพออีกต่อไป

การครอบแก้ว ศาสตร์การบำบัดแบบแพทย์แผนจีน

การครอบแก้ว หรือ Cupping Therapy เป็นการบำบัดรักษาทางเลือกของแพทย์แผนจีนชนิดหนึ่ง โดยในสมัยโบราณ จะนำอุปกรณ์ง่าย ๆ ที่มีอยู่รอบตัวมาประยุกต์ใช้ อาทิ กระบอกไม้ไผ่ เขาสัตว์ ต่อมาจึงได้เลือกใช้อุปกรณ์ที่มีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น เช่น ถ้วย หรือชามกระเบื้อง จนได้พัฒนามาเป็นแก้วใสทรงกลม ที่ใช้สำหรับการครอบแก้วโดยเฉพาะดังที่ใช้ในปัจจุบัน

Soft Skills ทักษะที่คนรุ่นใหม่ควรมี

ทักษะทางอารมณ์และสังคม ที่ใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังหมายรวมถึงอุปนิสัย บุคลิกภาพ ทัศนคติ และ mindset ต่าง ๆ เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นไปได้อย่างราบรื่น

รู้รอบตัวกับ ม.หัวเฉียว ตอน เลือกคณะอย่างไรให้ได้คณะที่ตรงใจ

การตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยและสาขาที่จะเรียน ถือเป็นอีกหนึ่งการตัดสินครั้งสำคัญของชีวิต แม้ว่าหลายๆ คนจะมีเป้าหมายไว้ในใจอยู่แล้วว่าอยากเรียนอะไรแต่ก็ไม่เสียหายหากจะลองทบทวนและหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย เพื่อหลักสูตรที่ใช่ ตรงกับใจ

Videos