ประตูเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จผ่านประตูแห่งนี้ เมื่อครั้งทรงเสด็จเปิดมหาวิทยาลัย ซุ้มประตูเสด็จ 5 ช่อง หมายถึง ประตูแห่งมงคล 5 ประการ แด่ผู้มาเยือนและสมาชิกของชุมชนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ให้มีสิริมงคลได้แก่ มั่นคงด้วยทรัพย์สิน มีอำนาจวาสนา มีอายุยืนยาว มีความยินดี มีวาระเฉลิมฉลอง
 
 
ประติมากรรมพระบรมโพธิสมภาร เป็นประติมากรรมแนวธรรมศิลป์เกี่ยวกับธรรมะของพระพุทธองค์ โดยใช้สัญลักษณ์ ต้นโพธิ์ ออกแบบโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) พ.ศ. 2541 สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงปกแผ่พระบารมี ให้ความร่มเย็นแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า และต่อชาวจีนที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่อดีตกาล
 
 
ต้นโพธิ์ สัญลักษณ์แห่งรุ่งอรุณของการรู้แจ้งเห็นจริงมีที่มาจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าใต้ต้นโพธิ์ นำความสว่าง สะอาด และความสงบมาสู่โลกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกโพธิ์ต้นนี้ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
 
 
ศาลาไทย เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป 3 องค์ คือหลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อโสธร และหลวงพ่อโตบุคลากรและนักศึกษาทุกคนของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติต่างน้อมสักการบูชาและศรัทธา ถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเสมอมา
 
 
สวนอภิรมย์ หรือสวนจีน เรียกอีกชื่อว่า สวนหยิน หยาง เป็นสวนพฤกษชาติประดับอาคารด้านข้างพิพิธภัณฑ์ ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ งดงามด้วยเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมจีน แวดล้อมด้วยธรรมชาติ เน้นศาสตร์ฮวงจุ้ย ด้วยหลักดุลยภาพหยิน หยาง มีศาลาทรงจีน ธารน้ำ สะพาน ศิลาน้อยใหญ่ ต้นไผ่เขียว และสิงโต เป็นต้น
 

อิฐแดง รูปลักษณ์แข็งแกร่งงดงาม เป็นส่วนสำคัญของอาคารเรียนอาคารหอประชุม และสถานที่ต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เพื่อสรรค์สร้างบัณฑิตออกไปเป็นคนดีมีความรู้ทำประโยชน์ให้สังคม
 

หอนาฬิกา ณ อาคารเรียน เด่นตระหง่านบอกกาลเวลาอย่างเที่ยงตรงมากว่า 20 ปี เป็นสัญลักษณ์ที่เตือนใจให้รู้คุณค่าของเวลาแต่ละวินาทีที่ล่วงเลยไปรวมไปถึงให้ทุกคนสำนึกและตระหนักถึงความสำคัญของการตรงต่อเวลา
 
 
ประติมากรรมหลวงปู่ไต้ฮง ประดิษฐาน ณ ศาลาทรงเก๋งจีน บริเวณด้านข้างอาคารอำนวยการ เป็นศูนย์รวมจิตใจให้ชาวมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ใฝ่ทำดีมีเมตตาธรรม เป็นที่มาของปณิธาน “เรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม” ท่านเป็นต้นอุดมการณ์ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ผู้นำในการเสียสละ และบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำกุศลสาธารณะด้วยหลักเมตตามายาวนานกว่า 900 ปี มาแล้ว 
 
 
รูปเหมือน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึง ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ อดีตประธานมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ซึ่งเป็นผู้นำในการเชิญชวนคนไทยเชื้อสายจีน ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างซาบซึ้งจดจำในพระคุณของท่านตลอดไป

 
ประติมากรรมนกหงัง สื่อความหมายของการเป็นผู้นำที่ดี ความมีระเบียบวินัย และความรักใคร่สามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะ ทั้งนี้ นกหงังหรือห่านฟ้าคู่ เป็นสัญลักษณ์ประจำตระกูล “เตชะไพบูลย์” สะท้อนปรัชญาแง่คิดของท่าน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ที่ทรงคุณค่า เป็นแรงดลใจต่อคนรุ่นหลัง และเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตสู่ความสำเร็จ ทั้งในหน้าที่การงาน ฐานะความเป็นอยู่ ชื่อเสียง เกียรติคุณ และคุณธรรมความดี
 
 
หนังสือซื่อคู่ฉวนซู ในประเทศไทยมีอยู่แห่งเดียว ที่ศูนย์บรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติสำเนาจากตำราประมวลความรู้อันลึกล้ำทุกยุคสมัยกว่า 2,500 ประเภท ซึ่งจัดทำเมื่อกว่า 200 ปีก่อนแบ่งเป็น 4 ภาค คือ จิง เป็นคัมภีร์ของสำนักปรัชญาขงจื้อ และธรรมเนียมประเพณีสมัยโบราณสื่อ เป็นตำราประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง ภูมิศาสตร์ จื่อ เป็นตำราร้อยปราชญ์จีนหลากสำนัก และด้านนักการทหาร นักกฎหมาย นักการเกษตร จี๋ เป็นวรรณคดี วรรณกรรม กวีนิพนธ์ 
 

 

หุ่นคน ถ่ายทอดความงามของท่วงท่าคนเป็นหุ่นนับเป็นศิลปะร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศไทย มีเพียงแห่งเดียวที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมุ่งสืบสานเอกลักษณ์ไทยให้ยืนนาน และสร้างชื่อเสียงของศิลปวัฒนธรรมไทย ให้ขจรไกลสู่นานาประเทศทั่วโลก