มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) จัดพิธีรำลึกหลวงปู่ไต้ฮง อริยสงฆ์ผู้ประเสริฐ กิจกรรมสำคัญอันเป็นมหามงคลของชาวหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.อุไรพรรณ เจนวาณิชยานนท์ อธิการบดี เป็นประธานประกอบพิธีวางพวงมาลัยสักการะและอัญเชิญหลวงปู่ไต้ฮงประทับบนเสลี่ยง พร้อมด้วยผู้แทนจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง รองอธิการบดี คณบดี ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการ คณะอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ร่วมพิธีและเดินขบวนแห่หลวงปู่ไต้ฮง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน 2567 ณ ศาลาหลวงปู่ไต้ฮง และถนนข้าวต้มกุ๊ย มฉก.
“ไต้ฮงกง” อริยสงฆ์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจกว่าศตวรรษ และศรัทธาเลื่อมใสในพระจริยวัตรงานสาธารณกุศลในหมู่ชาวไทยและชาวจีนโพ้นทะเล สืบทอดความศรัทธาต่อ ๆ กันมากว่า 1,000 ปี จากรุ่นลูกสู่รุ่นหลาน หลวงปู่ไต้ฮงเป็นพระภิกษุสงฆ์สมัยราชวงศ์ซ้อง ได้บูรณปฏิสังขรณ์ "วัดเมียนอัน" เป็นวัดเก่า ๆ อยู่บนเขาปักซัว ในตำบลฮั่วเพ่ง เขตอำเภอเตี้ยเอี้ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมักจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เป็นประจำ ทั้งพายุ น้ำท่วม ไฟไหม้ โรคระบาด ภัยแล้ง ซึ่งจะมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก ท่านก็เก็บศพไปฝังให้โดยไม่รังเกียจ ตั้งศาลารักษาโรคที่ริมโขดหินใหญ่ จัดหาอาหารสิ่งของให้ผู้ยากไร้ที่เดือดร้อน ชักชวนชาวบ้านและสานุศิษย์ ให้ประกอบกิจกรรมการกุศลกันอย่างกว้างขวาง และขณะนั้นท่านเห็นผู้คนข้ามแม่น้ำเหลียงเจียงที่กว้างใหญ่ถึง 300 วา สายน้ำเชี่ยวตลอดปี เกิดเรือล่มคนจมน้ำตายเสมอ หลวงปู่ไต้ฮงได้ชักชวนชาวบ้านบริจาคกำลังกาย กำลังทรัพย์ ลงมือสร้างสะพานฮั่วเพ้ง ชาวจีนทางตอนใต้แถบแต้จิ๋วซัวเถาจึงศรัทธาเลื่อมใสท่านมาก เมื่อท่านได้มรณภาพประชาชนจึงร่วมใจกันสร้างสถานที่สักการะบูชาเพื่อรำลึก แล้วตั้งชื่อสถานที่นั้นว่า "ป่อเต็กตึ๊ง" (หมายความว่า คุณานุสรณ์) ตั้งแต่นั้นมาการเก็บศพไร้ญาติ การแจกยารักษาโรค และการสังคมสงเคราะห์ จึงเป็นงานหนึ่งที่ผู้ใจบุญมักกระทำนอกเหนือจากการทำบุญทั่วไป พร้อมกับประดิษฐานรูปจำลอง "ภิกขุไต้ฮงโจวซือ” ไว้ทุกแห่ง มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ โดยศูนย์วัฒนธรรมจึงจัดให้มีพิธีรำลึกหลวงปู่ไต้ฮง พระภิกษุสงฆ์ที่มีจริยวัตรแห่งเมตตาธรรมช่วยเหลือทั้งผู้มีชีวิตที่ยากไร้และผู้ตายที่ไร้ญาติ เพื่อบำเพ็ญกุศลแก่หลวงปู่ไต้ฮง ตลอดจนเผยแพร่ชีวประวัติ และคุณธรรมความดีงานสาธารณกุศลที่ควรค่าแก่ถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่อาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย