โอวาท ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย 
ประธานในพิธีประสาทปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2564
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 
วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
......................................................................................................................

กราบเรียน     

     ท่านประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง (ดร.วิเชียร เตชะไพบูลย์) ที่เคารพรักอย่างยิ่ง
     ท่านนายกสภาฯ และกรรมการสภาฯ ทุกท่าน ที่ได้กรุณามาเป็นเกียรติให้กับพิธีประสาทปริญญาของบัณฑิตในรุ่นนี้
     ท่านอธิการบดี ผู้บริหาร คณาจารย์ ซึ่งได้ฝ่าฝันอุปสรรคในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาจัดการศึกษาจนกระทั่งครบในพันธกิจของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ดังรายงานที่ท่านอธิการบดีได้กราบเรียนที่ประชุมไปเมื่อครู่นี้ 

     ต้องขอยกย่อง ขอชมเชย ทั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สภามหาวิทยาลัยฯ และท่านผู้บริหาร ครูบาอาจารย์ทุกคน และที่สำคัญ คือ บัณฑิตทุกคน ที่ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะท่ามกลางอุปสรรคต่าง ๆ ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในวันนี้ ขอแสดงความชื่นชมยินดีกับบัณฑิตที่ได้รับรางวัลเหียกวงเอี่ยมและรางวัลกาญจนาภิเษก ซึ่งทั้งคู่เป็นรางวัลที่สำคัญอย่างยิ่ง สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเชื่อมั่นอยู่ตลอดเวลา 

     ตั้งแต่พวกท่านเข้ามาเป็นบัณฑิตในวันแรกก็จะมีครูบาอาจารย์กับรุ่นพี่ได้บอกว่า สัญลักษณ์เชิงคุณธรรมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็คือ เราเรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม ที่จริงก็มีที่มา ที่มานี่ก็เป็นสิ่งที่สั่งสอนกันมาเชื่อกันมาว่า “ชีวิตจะมีค่า คือ ชีวิตที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น” “ชีวิตที่มีค่า คือ ชีวิตที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น” เป็นพื้นฐานของอารยธรรมของจีน เป็นพื้นฐานของอารยธรรมของประเทศไทยด้วย ในประเทศจีนนั้นสิ่งที่หล่อหลอมเป็นพื้นฐานทางความคิดในเชิงปรัชญาก็ดี ในเชิงการดำเนินชีวิตก็ดี ก็จะประกอบด้วย ลัทธิขงจื้อ ลัทธเล่าจื้อ และก็ศาสนาพุทธ รวมทั้งนักปราชญ์นักคิดอีกหลาย ๆ ท่านด้วยกัน แต่เมื่อหล่อหลอมเข้าไปแล้วในช่วงห้าพันกว่าปีนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ว่า คนเราจะอยู่ด้วยกันต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 

     ผมจะขออนุญาตใช้เวลาสักนิดนึงเล่าให้ฟังถึงวิวัฒนาการของสังคมไทยบ้าง เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนมีนักวิชาการจากจุฬาฯ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใน 6 ประเทศที่มีชุมชนไท ไต จ้วง ลาว ได้ศึกษาดูว่าแท้จริงแล้วชุมชนไทยในประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น ที่พูดภาษาไทยรู้เรื่องเค้ามีวิวัฒนาการอย่างไร พอจะสรุปได้สั้น ๆ ว่า ถ้าพูดถึงหลักฐานที่ทางจีนเค้าบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้สองพันกว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่กลุ่มคนพูดภาษาไทยอยู่ทางใต้ของประเทศจีนแล้วก็อพยพไปทางตะวันตกขึ้นไปที่กว่างสีเหลียวหนิงก็เป็นไท จ้วง ไปที่เวียดนามเหนือที่เมืองแถน เมืองลาก็ยังมีอยู่เดี๋ยวนี้ ไปสิบสองปันนาก็เป็นไทลื้อ ไทเขิน อีกพวกนึงเก่งมากตั้งประเทศได้ปัจจุบันก็เป็นสปป.ลาว พวกที่สองที่ตั้งประเทศได้ก็ลงมาตั้งประเทศไทย ส่วนที่ตั้งประเทศไม่ได้อยู่ในประเทศพม่าก็เป็นรัฐฉาน เป็นพวกไทยใหญ่ และที่ตั้งประเทศไม่ได้อีกพวกนึงก็อยู่ที่รัฐอาหมของอินเดีย อีสานของอินเดียที่เรียกว่า ไทอาหม ไทผ้าเก แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามลักษณะของสังคมของกลุ่มคนที่พูดภาษาไทยยังมีมิติอยู่ 3 มิติ 

    มิติแรก คือ มิติครอบครัว มิติครอบครัวมีความเชื่อที่พัฒนามาจนกระทั่งสร้างความยั่งยืนให้แก่ครอบครัวของกลุ่มคนพูดภาษาไทย สั้น ๆ กล่าวคือ “ผู้ใหญ่ต้องอบรมและเลี้ยงดูผู้เยาว์” ผู้ใหญ่ ก็คือ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ต้องอบรมและเลี้ยงดูผู้เยาว์ คือ ลูกหลาน น่าสังเกตนะเค้าใช้คำว่า อบรมเลี้ยงดู เค้าไม่ได้พูดแต่เลี้ยงดูเท่านั้น ถ้าเลี้ยงดูโดยไม่อบรมมันไปคนละทิศละทาง ลูกหลานจะไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรไม่ควร เพราะฉะนั้นต้องอบรมด้วยเลี้ยงดูด้วย วันนี้เราก็มีคำพูดในเชิง    เหยียดหยามเหมือนกัน น้อย ๆ ว่า คนที่ประพฤติไม่ดี พ่อแม่คงไม่ได้สั่งสอน คงไม่ได้อบรม เอาแต่เลี้ยงดูไม่ได้อบรม อันนี้ก็เป็นคุณธรรมที่เค้าถือกันมานะ ที่นี้อีกข้อนึงย้อนจากผู้เยาว์ไปสู่ผู้ใหญ่ ผู้เยาว์ของคนไทยไปสู่ผู้ใหญ่ ผู้เยาว์ ก็คือ ลูกหลาน ต่อผู้ใหญ่     ก็คือ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา “ต้องรู้คุณท่านและตอบแทนคุณท่าน” สมัยนั้นยังไม่ได้เจอเถรวาท ยังไม่เจอบาลีสันสกฤต ยังไม่มีคำว่ากตัญญูกตเวที แต่มีคำพื้น ๆ ภาษาไทยว่า ต้องรู้คุณท่านและตอบแทนคุณท่าน คุณธรรม 2 ข้อนี้ ขึ้นและลง ผู้ใหญ่อบรมเลี้ยงดูผู้เยาว์ ผู้เยาว์ต้องรู้คุณท่านและตอบแทนคุณท่าน มันทำให้ครอบครัวไทยทั้ง 6 ประเทศ ที่กระจายอยู่ 6 ประเทศ มันเกิดความ “อบอุ่น มั่นคง ยั่งยืน” “อบอุ่น มั่นคง ยั่งยืน” มาวันนี้ในประเทศสยามของเรา เราเจอครอบครัว ที่เปราะบาง เราใช้คำว่า เปราะบาง ถ้าไปดูแล้วครอบครัวที่เปราะบางนอกจากปัญหาทางเศรษฐกิจแล้วจะเป็นปัญหาเรื่องคุณธรรมขาขึ้นขาลงที่ผมกราบเรียนจริง ๆ ฝากบัณฑิตด้วย ท่านทั้งหลายเป็นลูกเป็นหลานด้วย ท่านมีพันธะที่จะมองผู้ใหญ่  ในตระกูลของท่าน ต้องรู้คุณท่านต้องตอบแทนคุณท่าน ต่อไปข้างหน้าท่านก็จะมีครอบครัว ท่านก็จะมีลูกมีหลาน ท่านต้องอบรมด้วยและต้องเลี้ยงดูด้วย อย่าเลี้ยงดูอย่างเดียวต้องอบรมด้วย 

     อันนั้นระดับครอบครัวอีกระดับนึง คือ ระดับชุมชน คนไทยกินข้าวกินปลาเพราะฉะนั้นต้องทำนา ทำนามาสองพันปี แล้วนาที่คนไทยทำต้องเป็นนาดำ ต้องเลือกที่ลุ่ม ต้องมีแม่น้ำหรือมีบึงใหญ่ บึงบอระเพ็ด หนองหานก็ว่าไป ต้องมีแม่น้ำ ชุมชนไทยจะอยู่ที่นั่น และก็สองข้างแม่น้ำก็จะเป็นที่ลุ่มที่น้ำท่วมปีละสองสามเดือนเพื่อต้นข้าวจะได้เจริญงอกงาม ส่วนที่เนิน เนินสูง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ที่ลุ่มนี้ เราเรียกโคกก็ได้ เนินก็ได้ หรืออะไรก็ได้แล้วแต่ภาษาถิ่นเป็นที่สร้างบ้าน อยู่เป็นตระกูล อยู่เป็นครอบครัวอยู่เป็นกลุ่ม เป็นกลุ่ม ๆ ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนที่ร่วมชะตากัน ปีไหนน้ำดีทุกคนก็ได้ประโยชน์ ปีไหนน้ำแล้งข้าวก็น้อยหน่อยนะ ปลาก็น้อยหน่อย เพราะฉะนั้นความรักความผูกพันระหว่างคนในชุมชนของคนไทยจึงเข้มข้นมาก เวลานักวิจัยเค้าไปเยี่ยมจะมีคำพูดอยู่สามประโยค หนึ่งเฮาเป็นปี้น้องกันเน้อ แปลเป็นไทยภาคกลาง ก็คือ เราเป็นพี่น้องกันนะ คนในชุมชนเดียวกันเค้าบอกว่าเค้าเป็นพี่น้องกัน สองเราต้องมีน้ำใจต่อกัน เมื่อเป็นพี่น้องกันก็ต้องมีน้ำใจต่อกัน สามเราต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เมื่อเป็นพี่น้องกันต้องมีน้ำใจกัน ก็ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สามประโยคนี้มันทำให้ชุมชนไทยอยู่มาได้สองพันปี มีศัตรูไหม มี มีเป็นระยะ ๆ ศัตรูจากอาณาจักรอื่นเค้าก็มา Attack สู้ได้บ้าง สู้ไม่ได้บ้าง แต่ว่าอยู่ด้วยกันได้ มีชุมชนนึงที่เวียดนามเหนือวันนี้เค้ามีกรรมการหมู่บ้านเป็นคนแก่มีหน้าที่จัดสรรที่ดินทำนาตอนสิ้นปีให้กับทุกครัวเรือนหลังจากนับจำนวนสมาชิกครัวเรือนใหม่ตอนปลายปี ปีที่แล้วเค้าก็นับอย่างนี้แล้วก็จัดสรรที่ ถ้าบ้านใครมีคนมากก็ได้ที่มากหน่อย บ้านใครปีที่แล้วตายไปบ้างลดลงก็ได้ลดลงหน่อย นักวิจัยไปถามกรรมการผู้แก่ทั้งหลายว่าทำไมต้องเสียเวลาจัดสรรกันทุกปี เค้าตอบว่าไงรู้ไหม จะได้เป็นหลักประกันว่าทุกคนในชุมชนเราปีหน้าจะมีข้าวกินทุกคนทั้งปี เค้าไม่ได้ถือสิทธิ์ในการครอบครองที่นาเป็น Permanent Ownership เค้าถือหลักว่าทุกคนต้องมีข้าวกินทั้งปี น้ำใจอย่างนี้ฝากบัณฑิตนะครับ สิ่งที่งดงามของคนไทยไม่แต่เพียงรอยยิ้มแต่เรายังมีลึกกว่านั้นอีกเยอะเลยแต่เราเรียนประวัติศาสตร์เราไปไม่ถึงโน้น ประวัติศาสตร์เราไปแค่สุโขทัยที่จริงอันนี้ทะลุกำแพงสุโขทัยไปสองพันปีแล้วมันเป็นของดีมากเลย หนึ่งเราเป็นพี่น้องกันนะเราอยู่ในชุมชนเดียวกัน สองเราต้องมีน้ำใจนะ สามเราต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันนะ หลายท่านคงมีงานทำแล้ว ในโรงพยาบาลบ้าง ในบริษัทบ้าง หรือธุรกิจของตัวเองบ้าง โรงพยาบาลก็เป็นชุมชน บริษัทก็เป็นชุมชน ธุรกิจส่วนตัวของท่านก็เป็นชุมชน เราจำลองเอาน้ำใจคนไทยมาใส่ดีไหม จำลองเอาความเป็นไทยมาใส่ในชุมชนที่เราอยู่ ที่เราทำงาน ถือกันทุกคนเป็นพี่เป็นน้องกัน ต้องมีน้ำใจให้กันและกัน และก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ถ้าทำอย่างนั้นได้มันจะเป็นชุมชนแห่งความสุข มันจะเป็นชุมชนที่ทุกคนมีความหมาย ชีวิตทุกชีวิตมีความหมาย 

     มิติที่สาม คือ อาณาจักร สองพันปีมานี้กลุ่มคนที่พูดไทยสร้างอาณาจักรเยอะมาก เล็กบ้าง กลางบ้าง ใหญ่บ้างบางอาณาจักรก็เข้มแข็งบางอาณาจักรก็อ่อนแอ ที่อ่อนแอก็แพ้เค้ากลายเป็นชุมชนคนกลุ่มน้อยในวันนี้ ที่เข้มแข็งก็ตั้งประเทศได้สองประเทศ คือ สปป.ลาว และก็ประเทศไทย คุณธรรมที่ทำให้อาณาจักรอยู่ได้มีสองอัน คือ หนึ่งความสามัคคีของคนในอาณาจักรเดียวกัน เดี๋ยวนี้เรียกว่าประเทศ สมัยก่อนเค้าเรียกอาณาจักรเค้าไม่ได้เรียกประเทศเพราะยังไม่มีเส้นแบ่ง เดี๋ยวนี้เราเรียกประเทศ ทำนองเดียวกันครับจำลองมาวันนี้ประเทศเราต้องการความสามัคคี ประเทศไทยวันนี้ก็ต้องการความสามัคคี ผมขอวิงวอนบัณฑิตทุกท่านนะครับ เราเป็นคนไทยด้วยกันขอให้ชวนกันคิดบวก แล้วคิดสร้างสรรค์ อย่าคิดลบแล้วก็คิดทำลาย ขอให้ชวนกันคิดบวกและคิดสร้างสรรค์ อย่าได้รู้สึกคิดลบแบ่งพวกกัน ทำลายกัน แล้วก็เกิดความขัดแย้ง เกิดความรุนแรงเลย เพราะอันนั้นไม่ใช่สันดานเดิมของคนไทย คนไทยเราถือว่าทุกคนเป็นพี่น้องกัน เราต้องมีน้ำใจต่อกัน การแบ่งพรรคแบ่งพวกอันนั้นเป็นเรื่องของเค้าไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของเราคนไทยนี้เราต้องการสร้างชุมชนแห่งความสุข สร้างชุมชนแห่งความเป็นพี่เป็นน้องกันผมดีใจที่ทางมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ เรายึดมั่นในคุณธรรมมาตลอดและเราก็มีอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยคุณธรรม แล้วท่านอธิการบดีรายงานไปเมื่อครู่ว่าเราไม่ได้ทำเฉพาะที่นี่เราได้ไปทำให้โรงเรียนรอบ ๆ อีกหลายแห่งเป็นโรงเรียนคุณธรรมด้วย เมื่อกี้ท่านอ้างว่ามีสองข้อที่ผมติดใจ คือ ความซื่อสัตย์สุจริตและความกตัญญูกตเวที ความกตัญญูผมเล่าให้ฟังไปแล้วเมื่อกี้นี้ในระดับครอบครัวเราต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา แต่วันนี้เรายังจำเป็นจะต้องสร้างความรู้สึกกตัญญูต่อบ้านเกิดเมืองนอนเราด้วย คำไทยคำนี้ไพเราะมาก “บ้านเกิดเมืองนอน” มันมีสองคำบ้านเกิดและก็เมืองนอน ผมเกิดที่ราชบุรี ราชบุรีเป็นบ้านเกิดผมแต่ผมไม่ได้นอนที่นั่นมากก็เพราะอายุขวบนึงผมไปอยู่พิจิตร พิจิตรเป็นเมืองนอนของผม บางคนอาจจะเกิดกรุงเทพฯ และอยู่ที่กรุงเทพฯ ตลอดเลย กรุงเทพฯ ก็เป็นบ้านเกิดเมืองนอน แต่ถ้า Scale ใหญ่หน่อยก็คือประเทศไทย พวกเราทั้งหลายนี่ก็เป็นลูกหลานคนไทยก็เพราะว่าเมืองไทยเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเรา เป็นทั้งบ้านเกิดด้วย เป็นทั้งเมืองนอนด้วย เพราะฉะนั้นความกตัญญูกตเวทีต่อบ้านเมืองจึงจำเป็นต้องสร้าง ช่วยกันสร้าง เพื่อให้ประเทศนี้มันเข้มแข็ง รักกัน และก็สามัคคีกัน 

      ขออวยพรให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในครั้งนี้ ใช้ชีวิตที่มีคุณค่าทั้งต่อตนเอง มีคุณค่ากับครอบครัวและตระกูล มีคุณค่ากับหน่วยงานที่ท่านไปทำงานหรือแม้แต่จะเป็นธุรกิจที่สร้างเองก็ตาม และที่สำคัญ คือ ให้มีคุณค่าต่อบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน คือ ประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน 
     

    ขอบคุณมากครับ สวัสดีครับ



Total 949 Record : 48 Page : 1 [ 2 ][ 3 ][ 4 ][ 5 ][ 6 ][ 7 ][ 8 ][ 9 ][ 10 ][ 11 ][ 12 ][ 13 ][ 14 ][ 15 ][ 16 ][ 17 ][ 18 ][ 19 ][ 20 ][ 21 ][ 22 ][ 23 ][ 24 ][ 25 ][ 26 ][ 27 ][ 28 ][ 29 ][ 30 ][ 31 ][ 32 ][ 33 ][ 34 ][ 35 ][ 36 ][ 37 ][ 38 ][ 39 ][ 40 ][ 41 ][ 42 ][ 43 ][ 44 ][ 45 ][ 46 ][ 47 ][ 48 ] Next>>