ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สนับสนุนงบประมาณ) และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ กระทรวงวัฒนธรรม จัดโครงการการสร้างสรรค์การแสดงละครเวทีไทยร่วมสมัยเพื่อการเรียนรู้และสื่อสารสู่การพัฒนาจิตสาธารณะ เรื่อง เจ้าชายไม่วิเศษ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเยาวชน เมื่อวันอังคารที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องกระจกด้านหลังหอประชุม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นนักเรียนและนักศึกษาในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ได้แก่ โรงเรียนพูลเจริญวิทยาคม โรงเรียนราชวินิตสุวรรณภูมิิ โรงเรียนมัธยมวัดด่านสำโรง และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดและการกระทำในเรื่องการเห็นประโยชน์ส่วนร่วมเป็นสำคัญจากแก่นของเรื่องที่ว่า“สิ่งสำคัญนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการมีหรือไม่มีของวิเศษ แต่อยู่ที่ว่าได้ทำประโยชน์หรือเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ ผ่านกระบวนการละครเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ เกม แบบฝึกหัดละคร การทำความเข้าใจกับตัวเองเชื่อมโยงกับตัวละครและแก่นเรื่อง การพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน การออกแบบและสร้างสรรค์อุปกรณ์ประกอบการแสดงต่างๆ การเชิดหุ่นเงาและหุ่นนานาชนิดหลากรูปแบบการเชิด การบรรเลงดนตรีไทยร่วมสมัย การร้องเพลง การอ่านบทกลอน เป็นต้น รวมถึงการเรียนรู้ทั้งในช่วงก่อนการแสดง(การเตรียมงานต่างๆ) ระหว่างทำการแสดง และหลังการแสดงก่อให้เกิดความเข้าใจ ตระหนักคิดและพัฒนานำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทางความคิดในเรื่องจิตสาธารณะของนักแสดงและผู้ชม
เจ้าชายไม่วิเศษ เป็นเรื่องราวของเจ้าชายที่เกิดมาในดินแดนแสนวิเศษแต่กลับไม่มีของวิเศษติดตัว ซึ่งพ่อแม่พี่น้องและคนอื่นๆ ในเมืองมีของวิเศษกันแทบทุกคน เจ้าชายจึงถูกมองว่าประหลาด จึงต้องไปหาของวิเศษ เพื่อจะได้เหมือนคนอื่น
ผู้กำกับ(อาจารย์ใจบุญ แย้มยิ้ม) ตั้งคำถามในกิจกรรมการเรียนรู้และการแสดงของผู้เข้าร่วมโครงการและผู้ชมที่ว่า “ของวิเศษสำหรับตัวเราหรือที่เราต้องการคืออะไร เรามีหรือไม่มีของวิเศษนั้น ถ้าไม่มีจำเป็นหรือไม่ที่เราต้องไคว่คว้าหามา ถ้าจำเป็นแล้วจะมีไว้เพื่อทำอะไรกับใคร หรือถ้าไม่จำเป็นต้องมีเราจะมีความสุขหรือไม่”