นับเป็นข่าวดีอย่างมาก เมื่อทางการไทยและจีนได้ลงนามในข้อตกลงยกเว้นข้อกำหนดวีซ่า หรือ “ฟรีวีซ่า” ให้กับนักท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ
     ไม่เพียงช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างกัน ยังเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรรับเชิญแห่งหลักสูตรวิทยาการผู้นำไทย-จีน (วทจ.) รุ่นที่ 6 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ให้มุมมองถึงสิ่งที่ไทยจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ว่า “ในระยะสั้นที่เห็นได้ชัดเจน เป็นเรื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่วนในระยะยาว เป็นการเปิดช่องทางทำมาหากิน เปิดโอกาสในการแสวงหาตลาด ต่อยอดด้านการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงให้มากไปกว่าการได้ฟรีวีซ่า คือการรักษาสถานะฟรีวีซ่าให้คงอยู่ตลอดไป สิ่งที่ไทยจะต้องทำให้ได้ จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจหรือทำให้รู้สึกได้ถึงความมั่นคงและความปลอดภัย” หลายครั้งที่เป็นข่าว กรณีการใช้หนังสือเดินทางอย่างไม่ถูกต้อง รวมไปถึงเรื่องเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้น ล้วนส่งผลต่อภาพลักษณ์ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ไทยต้องเข้มงวดในการสร้างความเชื่อมั่น ส่วนประเด็นที่มีการแสดงความเป็นห่วง กังวลว่าไทยอาจจะขาดดุลหรือเสียดุลการท่องเที่ยว ในเรื่องนี้ รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ให้ความเห็นว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้ที่ไทยจะเสียดุลด้านการท่องเที่ยว” ลองนึกภาพดู ประชากรจีนมีอยู่ราว ๆ 1,400 ล้านคน ขณะที่ไทยให้เต็มที่มีประชากร 70 ล้านคน แค่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยเพียง 5 % ก็มากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของคนไทยที่จะเดินทางออกไปท่องเที่ยวแล้ว อีกทั้งเรื่องรายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีนก็สูงกว่า ดังนั้นด้วยความที่จีนเป็นตลาดใหญ่ ไม่ว่าอย่างไรแล้วก็เป็นผลเชิงบวกกับไทยอย่างแน่นอน เมื่อโอกาสมารอถึงหน้าบ้านขนาดนี้แล้ว เป็นหน้าที่ของไทยที่ต้องหันกลับมาทำการบ้านอย่างหนัก เราต้องพยายามคงไว้ซึ่งมนต์เสน่ห์ หรืออัตลักษณ์ความเป็นไทย รู้ให้ลึก และเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริง ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่เอารัดเอาเปรียบหรือหลอกลวงนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งร่วมกันสร้างบรรยากาศ สร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัย เพียงเท่านี้ไทยก็จะเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวสนใจอยากเดินทางมาอย่างแน่นอน “ฟรีวีซ่าครั้งนี้จะนำมาสู่ความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นในหลายด้าน แน่นอนว่าเป็นประโยชน์ แต่เราจะต้องไม่ลืมเรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด ให้คนออกและเข้าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบในการทำธุรกิจ” เปิดประตูหน้าบ้านเรา จะต้องไม่ลืมหลังบ้าน นั่นคือเรื่องกฎหมายและการสอดส่องดูแล

 

ที่มา สถาบันวิทยาการผู้นำไทย-จีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ